ช่วงปี 2019 กระแสคนกลับมาเล่นกล้องฟิล์มเพิ่มมากอีกครั้งเป็นประวัติการ กล้องฟิล์มที่ได้รับความนิยมและพูดถึงกันเยอะมากหนีไม่พ้น Yashica Electro 35 series ที่ทุกคนทั่วโลกให้ฉายาว่า “ไลก้าคนจน” (Poor Man Leica) เนื่องจากเลนส์ที่ติดมากกับกล้องให้ภาพคมใกล้เคียงกับไลก้าในยุคนั้น สำหรับ Yashica Electro 35 GSN เองเป็นรุ่นท็อปของซีรี่ย์นี้ครับ

บริษัท Yashica ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 ที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นได้ร่วมมือกับบริษัท Kyocera ในปี 1983 ก่อนจะปิดไลน์การผลิตในปี 2005 และในปี 2008 แบรนด์ Yashica ก็กลับมาอีกครั้งที่ฮ่องกงโดยใช้ชื่อว่า Yashica International Company Limited จนถึงปัจจุบัน

Yashica Electro 35 series เริ่มไลน์ผลิตในปี 1965 มีด้วยกัน 13 รุ่น คือ

  1. Yashica Electro 35 (1965 -1966)
  2. Professional (1966)
  3. G (1968)
  4. GT (1969)
  5. GS (1970)
  6. CC (1970)
  7. MC (1972)
  8. FC (1973)
  9. GL (1973)
  10. GTN (1973)
  11. GSN (1973)
  12. GX (1975)
  13. MG-1 (1975)

วันนี้เราจะมาพูดถึงรุ่น GSN กันส่วน GTN จะไม่ขอพูดถึงเพราะใช้สเปคเหมือนกันทุกอย่าง ต่างกันแค่สีภายนอกที่เป็นสีดำเท่านั้นเอง

รูปลักษณ์ของ Yashica Electro 35 GSN

ภายนอกของเจ้า Yashica Electro 35 GSN  ส่วนโลหะเป็นทองเหลืองทำสีเงิน หนังที่หุ้มเป็นสีดำ ไม่แน่ใจว่าเป็นหนังชนิดไหน ความหล่อที่ไม่ต้องพูดถึง หยิบไปไหนก็มีแต่คนมองแน่นอนครับ

ด้านหน้าของ Yashica Electro 35 GSN

ด้านหน้าเป็นที่อยู่ของเลนส์ มีโลโก้ Yashica G series สีทองอยู่ทางด้านซ้ายของเลนส์ ส่วนด้านขวาเป็นโลโก้รุ่น GSN ส่วนด้านบนเป็นตำแหน่งของระบบวัดแสงและ Rangefinder ตามลำดับ

ด้านซ้ายของ Yashica Electro 35 GSN

ด้านซ้ายมีพอร์ตสำหรับซิงค์กับแฟรชรุ่นเก่าๆ

ด้านหลังของ Yashica Electro 35 GSN

ด้านหลัง ช่วงบนประกอบไปด้วยช่องมองภาพแบบ Rangefinder และปุ่มเช็คพลังงานแบตเตอรี่ ส่วนช่วงล่างเป็นฝาปิดห้องฟิล์ม

ด้านขวาของ Yashica Electro 35 GSN

ด้านขวาไม่มีฟังก์ชันอะไรพิเศษ

ด้านบนของ Yashica Electro 35 GSN

ด้านบนมีฟังก์ชันเยอะมาก ตามสไตล์กล้องฟิล์ม เริ่มจากซ้ายไปขวานะครับ

  1. ก้านกรอฟิล์ม
  2. Hot shoe สำหรับใช้งานแฟรช
  3. ไฟแสดงสถานะขณะวัดแสง
  4. แป้นหมุนเลือก ASA (ISO) ของ Film ที่เราใส่ (ต่ำสุด 25 สูงสุดที่ 1000)
  5. ปุ่มชัตเตอร์และตัวล็อคชัตเตอร์
  6. ก้านขึ้นฟิล์ม
  7. ไปแสดงสถานะแบตเตอรี่

ด้านล่างของ Yashica Electro 35 GSN

ด้านล่างเป็นปุ่มสำหรับเปิดโหมดกรอฟิล์ม พอร์ตสำหรับใส่ขาตั้งกล้องและฝาปิดช่องใส่ถ่าน

สเปคของ Yashica Electro 35 GSN

กล้องตัวนี้มาพร้อมกับเลนส์ Yashinon DX 45mm ที่มีรูรับแสงกว้างสุด f1.7 แคบสุดที่ f16 ประกอบด้วยชิ้นเลนส์ 6 ชิ้น โดยที่หน้าเลนส์มีขนาด 55mm ใครที่จะใส่ฟิลเตอร์ต้องซื้อขนาด 55mm เท่านั้นนะครับ

ระยะที่สามารถโฟกัสได้ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 80 เซนติเมตร ใช้ระบบการโฟกัสแบบ Rangefinder โดยเรายังต้องหมุนวงแหวนโฟกัสเอง สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าระบบ Rangefinder คืออะไร ทำงานยังไง สามารถดูได้ที่นี่
กลไกม่านชัตเตอร์เป็นแบบ Leaf Shutter ให้ความรู้สึกนิ่งเวลาลั่นชัตเตอร์ ไม่ทำให้กล้องสั่นแบบกล้อง SLR แถมเสียงยังเงียบอีกด้วย
Speed Shutter อยู่ในช่วง 1/500 ถึง 30 วินาที

เลนส์ของ Yashica Electro 35 GSN

ตั้งเวลาเวลาถ่ายด้วยกลไก Self Timer โดยสามารถหน่วงเวลาถ่ายได้นานที่สุดที่ 8 วินาที
น้ำหนักตัวกล้องอยู่ที่ 750 กรัม สัดส่วน 180 x 84 x 73.5 มิลลิเมตร

นอกเหนือจากนั้นยังมีระบบวัดแสง เวลาที่เราต้องการวัดแสงให้เล็งกล้องไปยังจุดที่เราต้องการถ่าย จากนั้นกดชัตเตอร์ครึ่งเดียว ระบบจะคำนวณสภาพแสงแล้วบอกเราในรูปแบบไฟ SLOW และ OVER ทั้งในช่องมองภาพและด้านบนของตัวกล้อง ถ้าเกิดไฟทั้งสองไม่ติด แสดงว่าสภาพแสงเหมาะสม

ระบบวัดแสงใช้ไฟ 5.6V ถ่านตรงรุ่นของเค้าจะเป็นแบบ PX32 และ E164 ซึ่งปัจจุบันเลิกผลิตไปหมดทุกแบรนด์แล้ว ยังโชคดีที่เราสามารถแปลงถ่านมาทดแทนได้
ตอนนี้เราสามารถแปลงถ่านได้อยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ

  1. ใช้อแดปเตอร์แปลงถ่านตระกูล LR44 ให้มีขนาดใกล้เคียงกับถ่านแบบดั้งเดิม สามารถใช้ 4LR44 ได้เหมือนกัน
  2. ใช้ถ่าน CR123A กับ LR44 อีก 2 ก้อนมาเรียงต่อกัน

ไฟ OVER ของ Yashica Electro 35 GSN

ไฟ SLOW ของ Yashica Electro 35 GSN

ไฟเช็คแบตเตอรี่ของ Yashica Electro 35 GSN

โหมดถ่ายภาพ

  1. B (Shutter B) โหมดนี้ทำให้เราสามารถเปิดม่านชัตเตอร์ค้างไว้ได้ด้วยการกดชัตเตอร์ค้างตามเวลาที่ต้องการ หลังจากนั้นปล่อยชัตเตอร์เพื่อปิดม่านชัตเตอร์ เหมาะกับในการถ่ายภาพในเวลากลางคืน
  2. Auto (Aperture Priority) โหมดนี้เราต้องเลือกรูรับแสงก่อน จากนั้นกล้องจะคำนวณ Speed Shutter ที่เหมาะสมให้เองอัตโนมัติ
  3. Flash โหมดนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเราเสียบแฟลช ตัวกล้องจะคำนวนสภาพแสงหลังจากนั้นจะคำนวณการยิง Flash ให้เรา

โหมดการถ่ายของ Yashica Electro 35 GSN

ขั้นตอนการถ่ายสำหรับมือใหม่

  1. โหลดฟิล์มและเลือก ASA (ISO) ให้เหมาะสมกับฟิล์ม
  2. หาจุดที่เราต้องการถ่าย
  3. ขึ้นฟิล์ม
  4. พยายามปรับรูรับแสงให้เหมาะกับสภาพแสง ณ ตอนนั้นมากที่สุด
  5. เล็งผ่านช่องมองภาพเพื่อจัดองค์ประกอบของรูป
  6. กดชัตเตอร์ครึ่งนึงเพื่อวัดแสง ถ้าไฟวัดแสงยังติดอยู่ให้กลับไปทำขั้นตอนที่ 3. ใหม่ หลังจากวัดแสงพอดีแล้วให้ปล่อยชัตเตอร์ได้
  7. หมุนวงแหวนโฟกัสให้เข้าจุดที่เราต้องการ
  8. วัดแสงอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ จากนั้นกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายได้เลย

ขั้นตอนการกรอฟิล์ม

หลังจากเราถ่ายจนฟิล์มหมดม้วนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การที่จะนำฟิล์มออกจากตัวกล้องได้ให้ทำตามขั้นตอนนี้ครับ

  1. กดปุ่มด้านล่างตัวเครื่องเพื่อเปิดโหมดกรอฟิล์ม
  2. งัดก้านกรอฟิล์มขึ้นมา แล้วหมุนตามลูกศรไปเรื่อยๆ
  3. หมุนจนความรู้สึกตึงมือหายไป ในจังหวะที่ฟิล์มเข้ากลักจะมีเสียง กริ้ก! นิดนึง ต้องตั้งใจฟังหน่อย เราสามารถหมุนเผื่อไปเรื่อยๆได้ครับ
  4. ดึงก้านกรอฟิล์มขึ้นด้านบนตัวกล้อง เพื่อเปิดห้องฟิล์ม
  5. ดึงม้วนฟิล์มออกจากตัวกล้องไปส่งแลปล้างได้เลย

ภาพตัวอย่างจาก Yashica Electro 35 GSN

รูปตัวอย่างจาก Yashica Electro 35 GSN

รูปตัวอย่างจาก Yashica Electro 35 GSN

รูปตัวอย่างจาก Yashica Electro 35 GSN

รูปตัวอย่างจาก Yashica Electro 35 GSN

ข้อดี

  • รูปลักษณ์หล่อทุกมุมมอง
  • บอดี้กล้องแข็งแรงมาก
  • เลนส์คม ใช้งานง่าย มีโหมด Auto
  • มีระบบวัดแสงทั้งในช่องมองภาพและด้านบนของตัวกล้อง ใช้งานสะดวก
  • มีตัวล็อค Shutter ทำให้ Shutter ไม่ลั่นเวลาเราขึ้นฟิล์มทิ้งไว้ แต่ยังไม่พร้อมถ่าย
  • กลไกม่านชัตเตอร์แบบ Leaf Shutter ทำให้กล้องไม่สั่นเวลาถ่าย
  • มีอุปกรณ์เสริมให้เล่นอีก ที่เห็นบ่อยๆจะเป็นฟิลเตอร์เลนส์ Wide, Telephoto กับ Frame line extension

ข้อเสีย

  • ตัวกล้องใหญ่และหนัก ห้อยคอนานๆไม่ไหว
  • ระยะโฟกัสที่ใกล้ที่สุดค่อนข้างไกล
  • ปัจจุบันไม่มีถ่านตรงรุ่น ต้องดัดแปลงเพิ่มเติม
  • สามารถเกิดอาการ Parallax error ได้ (องค์ประกอบของภาพที่ถ่ายได้ไม่ตรงกับสิ่งที่เราเห็นในช่องมองภาพ)
  • ราคา ณ ปัจจุบันแพงเอาเรื่อง (4,000 บาท – 7,000 บาท)

สรุป

ความสวยงามให้ 10/10 ไปเลย ใช้งานง่าย เลนส์ที่มีรูปรับแสงกว้างช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการถ่ายได้ดีมาก แต่ปัญหาหลักเลยคือน้ำหนักของตัวกล้อง แนะนำสำหรับมือใหม่ที่อยากเล่นกล้อง Rangefinder ครับ

เครดิต

ขอบคุณรูปจากร้าน @a.film_moment
ใครที่หาซื้อกล้องฟิล์มหรือฟิล์มถ่ายภาพก็ไปติดต่อกันได้นะครับ
Instagram Facebook

หรือจะไปซื้อทาง Shopee หรือ Lazada ก็ได้เหมือนกันครับ