การจะหา WordPress Theme มาใช้ซักอันนึงไม่ใช่เรื่องง่าย ปกติแล้วก็ได้ไม่ได้เปลี่ยนกันบ่อยๆด้วย วันนี้เราจะมาบอกหลักการเลือกธีมที่ใช่และหมาะสมกับเว็บไซต์ของเรากัน
อย่างใน KITCHENRAI เราก็ใช้หลักการแบบนี้มาเลือกธีม ซึ่งในบทความนี้จะเปรียบเทียบข้อมูลธีมใน Themeforest เป็นหลักนะครับ
หัวข้อ
- รู้จุดประสงค์ของเว็บฯ
- เลือกใช้ธีมให้ตรงจุดประสงค์
- เลือกรูปแบบของธีมที่ชอบ
- รองรับหลายขนาดหน้าจอ
- เลือกผู้พัฒนาที่น่าเชื่อถือ
- ดูรายละเอียดที่จำเป็น
- ประสิทธิภาพของธีม
- Search Engine Optimization
- รองรับพื้นที่โฆษณา
- Customer Service
รู้จุดประสงค์ของเว็บฯ
ก่อนที่จะเลือกธีม อย่างแรกเราต้องรู้ความต้องการของตัวเองก่อนว่าเราจะทำเว็บไซต์ไปในแนวทางไหน เพื่ออะไร จะเอาไปเขียนบล็อก ขายของ หรือทำเป็น portfolio อะไรก็ว่ากันไป ใครที่ยังไม่รู้จุดประสงค์ของตัวเองแนะนำว่าให้ตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ก่อน ไม่งั้นเราอาจหลงทางเลือกธีมไม่เหมาะสมเท่าที่ควรฮะ
เลือกใช้ธีมให้ตรงจุดประสงค์
หลังจากเรารู้จุดประสงค์ของเว็บไซต์แล้ว ถึงเวลาของการเลือก WordPress Theme กันแล้ว การเลือกธีมให้ตรงหมวดหมู่ทำให้เราได้ธีมที่ออกแบบและปรับแต่งมาเฉพาะทางและเราสามารถนำมาปรับแต่งต่อได้ง่ายด้วย นอกจากนั้นยังทำให้ UX (User Experience) ของเว็บไซต์เราดีขึ้นอีกด้วย
เลือกรูปแบบของธีมที่ชอบ
แน่นอนว่าความสวยงามของธีมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนให้ความสนใจเป็นอันดับแรกๆ แนะนำให้ดูเรื่อง Layout ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดวางองค์ประกอบของธีมเป็นหลัก โดยทั่วไปธีมฟรี เราจะสามารถปรับเปลี่ยนสีของธีมได้ตามต้องการ แต่กับ Layout เราค่อนข้างจะปรับแต่งได้ยาก ต่างจากธีมที่เสียเงินที่สามารถปรับแต่งได้เยอะกว่า
รองรับหลายขนาดหน้าจอ
การเข้าใช้งานเว็บไซต์ทุกวันนี้มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าคอมพิวเตอร์ซะอีก การเลือกธีมที่รองรับ Responsive design เป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับการทำเว็บไซต์ตอนนี้ Responsive design ทำให้ผู้ใช้เว็บไซต์ใช้งานได้ง่ายขึ้น ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นในเวอร์ชั่น Desktop ออกไป
เราสามารถทดสอบความสามารถนี้ได้โดยการนำ URL ที่เป็น Demo ของธีมมาตรวจได้ที่ Google Mobile-Friendly Test
เลือกผู้พัฒนาที่น่าเชื่อถือ
ผู้พัฒนาธีมเป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เราสามารถเลือกธีมที่มีคุณภาพได้ การเลือกผู้พัฒนาที่น่าเชื่อทำให้เรามั่นใจได้ในระดับนึงว่าจะไม่มีมัลแวร์หรือสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายแฝงมากับธีม ซึ่งเราสามารถดูได้คร่าวๆจากจำนวน Rating Sales และยอด Followers ในหน้าโปรไฟล์ของผู้พัฒนาแต่ละเจ้า
ดูรายละเอียดที่จำเป็น
- Last Update (วันสุดท้ายที่อัพเดท) การที่ผู้พัฒนายังอัพเดทธีมอยู่ ยิ่งทำให้เรายังมั่นใจได้ว่าเมื่อเกิดปัญหา จะยังมีคนคอยแก้ปัญหาให้เรา
- Compatible Browsers (เว็บบราวเซอร์ที่รองรับ) เป็นตัวบ่งบอกว่าธีมนี้สามารถใช้ได้กับ Web Browser เจ้าไหน เวอร์ชั่นอะไรบ้าง ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งดี
- Software Version (เวอร์ชั่น WordPress ที่รองรับ) ข้อนี้เป็นตัวที่บ่งบอกว่าธีมนี้ใช้ได้กับ WordPress เวอร์ชั่นไหนบ้าง
- Documentation (คุณภาพของคู่มือ) เป็นตัวบอกว่าคู่มือการใช้งานธีมยากหรือง่ายขนาดไหน
- Layout (รูปแบบการแสดงผล) ควรเลือกธีมที่เป็น Responsive ตามที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้
ประสิทธิภาพของธีม
ธีมที่มีประสิทธิภาพดีในที่นี้คือ ธีมที่ถูกพัฒนาและปรับแต่งให้โหลดได้รวดเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ผู้พัฒนาจะให้ความใส่ใจในเรื่องนี้ สำหรับการเช็คประสิทธิภาพของธีมสามารถตรวจสอบคร่าวๆได้จาก GTmetrix และ Google PageSpeed Insights โดยนำ Demo URL ของธีมไปเช็คและดูคะแนนจาก Checklist ที่เค้าเตรียมไว้ทดสอบได้เลย
Search Engine Optimization
SEO (Search Engine Optimization) เป็นปัจจัยนึงที่จำเป็นสำหรับการทำเว็บไซต์ ลองคิดเล่นๆว่าถ้าของที่เราขายติดอันดับแรกของ Google จะเป็นยังไง แน่นอนว่าจะมีคนหลั่งไหลเข้ามาดูสินค้าของเราไม่ขาดสายแน่นอน
ธีมที่มี SEO ดี ผู้พัฒนาต้องมีความเข้าใจและพัฒนาตามหลัก SEO อย่างเช่น
- On page structure (โครงสร้างของหน้าเว็บ)
- Fast load (โหลดเร็ว)
- Responsive design (รองรับการแสดงผลในหลากหลายอุปกรณ์)
- User Experience (เว็บไซต์ต้องใช้งานง่าย)
เราสามารถเช็คคะแนน SEO ของธีมได้ทาง SEO Site Checkup
รองรับพื้นที่โฆษณา
เรื่องรายได้ก็เป็นอีกปัจจัยที่จำเป็นเหมือนกัน ธีมที่รองรับการติดโฆษณามีความได้เปรียบเรื่องรายได้มากกว่าธีมที่ไม่รองรับ ตัวอย่างเช่นเมื่อเว็บไซต์ของเราเป็นที่นิยม เกิดมีลูกค้าติดต่อลงโฆษณาหรือแม้กระทั่ง Banner ก็ตาม ถ้าเราเลือกใช้ธีมที่มีการรองรับโฆษณาจะทำให้เว็บไซต์ของเรามีความยืดหยุ่นในการหารายได้เพิ่มขึ้น
Customer Service
การที่ธีมที่เราเลือกมี Customer service ทำให้เรามั่นใจว่า เมื่อเกิดปัญหาการใช้งาน เราจะสามารถติดต่อทางผู้พัฒนาเพื่อช่วยแก้ปัญหาได้ ส่วนใหญ่ธีมที่เสียเงินจะมี Customer service แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะ Support เราตลอดไป ปกติจะมีเวลาจำกัดให้ประมาณ 6 เดือน
สรุป
- เลือกธีมที่ตรงจุดประสงค์ของเรา
- เลือกธีมที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อนและตอบโจทย์ความต้องการของเรา
- ธีมราคาแพงไม่ได้เหมาะสำหรับเราเสมอไป